4 รูปแบบอาชญากรรมออนไลน์

4 รูปแบบอาชญากรรมออนไลน์ที่ต้องจับตามองในปี 2567 เมื่อ AI ถูกใช้ในด้านมืด ปลอมได้สารพัด
.
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ
.
จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่านมาพบว่ารูปแบบคดีที่มีจำนวนการแจ้งความมากที่สุด อันดับ 1 – การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี
.
ส่วนรูปแบบคดีที่มีความเสียหายรวมสูงที่สุด อันดับ 1 คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” มีความเสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท
.
สำหรับคดีในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ “การหลอกให้โอนเงิน” “การหลอกให้กู้เงิน” และ “การข่มขู่ทางโทรศัพท์” ก็ยังคงรูปแบบคดีที่มีผู้เสียหายและสร้างความเสียหายในอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน
.
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อออนไลน์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เพราะคนร้ายจะพยายามใช้ทุกช่องทางในการเข้าถึงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่ง SMS การโทรศัพท์หาเหยื่อ การลงโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ และในหลายกรณีพบว่าคนร้ายมีข้อมูลส่วนบุคคลเชิงลึกของเหยื่อใช้ประกอบการหลอกลวงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วย
.
ส่วนแนวโน้มรูปแบบของอาชญากรรมออนไลน์ในปี พ.ศ. 2567 ที่จะมาถึงนี้ สิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือการที่คนร้ายนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้ในการสร้างเนื้อหาปลอมขึ้นมาเพื่อใช้ในการฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย โดยการนำ AI มาใช้สร้างภาพหรือคลิปปลอม เพื่อนำมาแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ เช่น

1.การสร้างภาพหรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes) เพื่อใช้ในการฉ้อโกง

2.การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes) ทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือแสวงหาประโยชน์

3.การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers) จากตัวอย่างเสียง เพื่อใช้ในการฉ้อโกง

4. การสร้างข่าวปลอม (Fake News) ที่ดูน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือความเข้าใจผิด
.
สำหรับวิธีการที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคือการอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือได้ยินในโลกออนไลน์ โดยยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ และหากพบว่าตนเองถูกแอบอ้างหรือปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ ให้รีบดำเนินการ “แจ้งความ รีพอร์ต บอกเพื่อน” เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทต่อไป
.
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

#วัคซีนไซเบอร์
#เตือนภัยออนไลน์
#สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
#Royalthaipolice