พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (บังคับใช้ 22 ก.พ.66) การทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ที่ทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่ไม่อาจทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น กฎหมายการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จึงกำหนดฐานความผิดมาตรการป้องกันและปราบปรามและมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่น ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญ
ความผิดฐานกระทำทรมาน : โทษจำคุก 5 – 15 ปี และปรับ 100,000 – 300,000 บาท “ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ” กระทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์….
– ให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
– ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
– ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
– เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย : รับโทษจำคุก 5 – 15 ปี และปรับ 100,000 – 300,000 บาท “ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ความคุมตัว หรือลักพาตัว โดยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้นที่ส่งผลให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และการกระทำนั้นให้ถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น
ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ลงโทษหรือกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิ
ขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ แต่ไม่รวมถึงอันตรายเป็นผลปกติ หรือสืบเนื่องจากการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย
** ถ้าผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส : รับโทษจำคุก 10 – 25 ปี และปรับ 200,000 – 500,000 บาท
** ถ้าผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย : รับโทษจำคุก 15 – 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 300,000 – 1,000,000 บาท
ประเด็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
ห้ามอ้างพฤติการณ์พิเศษในภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศหรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด เพื่อให้การกระทำความผิดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ห้ามหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หากมีเหตุสมควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมานถูกกระทำโหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย
ข้อยกเว้น ความผิดฐานกระทำทรมานและความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ไม่ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องทางอาญา
ในกรณีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย เจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนจนกว่าจะพบ บุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหายหรือหลักฐานที่น่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
เมื่อถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการอย่างไรให้ถูกกฎหมาย อ่านเพิ่มเติม ได้ที่ https://justicechannel.org/read/justice-litigation/prevent-lost-people
ที่มา : พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565